ชิงชัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : FABACEAE - PAPILIONOIDEAE
ชื่อพื้นเมือง : กระซิก กระซิบ กำพี้ต้น เก็ด เก็ดดำ เก็ดแดง ดู่ลาย ดู่สะแดน ประดู่ชิงชัน พะยูงแกลบ พะยูงแดง พะยูงหิน
รายละเอียด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง ๑๕-๒๕ เมตร ผลัดใบ เรือนยอดพุ่มกลม ลำต้นเปลาตรง เปลือกหนาสีเทา หรือสีน้ำตาลเทา กะเทาะล่อนเป็นแผ่น ใบ ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่เรียงสลับ ระนาบเดียว ใบย่อยเรียงสลับ มี ๕-๘ คู่ ใบรูปรี รูปขอบขนานแกมรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ปลายใบสอบทู่ โคนใบมน หรือ สอบ ใบเกลี้ยง ผิวใบด้านล่างมีนวลสีขาว ขอบใบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๙ เส้น ก้านช่อใบยาว ๒-๔ ซม. ก้านใบย่อยยาว ๓-๖ มม. ดอก สีขาวอมม่วงหรือม่วงคราม ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่งช่อดอกยาว ๑๐-๓๐ ซม. กลีบเลี้ยงรูปกรวยปลายแยก ๕ แฉก กลีบดอกมี ๕ กลีบ กลีบบนใหญ่ที่สุด สองกลีบข้างๆขนาดเล็กกว่า กลีบคู่ล่างสุดเชื่อมประสานกันเป็นรูปท้องเรือ ดอกบานเต็มที่กว้าง ๘-๑๐ มม. ผล ผลเป็นฝักแห้งไม่แตกรูปทรงขอบขนาน และแบน สีเขียวเป็นมัน กว้าง ๓-๓.๕ ซม. ยาว ๘-๑๗ ซม. เมล็ดรูปไตเรียงตามยาว มี ๑-๓ เมล็ด ส่วนที่หุ้มเมล็ดนูนเป็นกระเปาะแข็ง
ประโยชน์
แก่น ผสมยาบำรุงโลหิตสตรี เปลือก ใช้ต้มชำระล้างและสมานบาดแผลเรื้อรัง