โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์อุบล สมทรง
คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
จุดเริ่มต้นของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพยายามปกปักรักษายางนา จากการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยรถยนต์ผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี สองข้างทางมีต้นยางนาขนาดใหญ่ขึ้นอยู่มาก มีพระราชดำริจะสงวนบริเวณป่าต้นยางนี้ไว้เป็นสาธารณะด้วยพระราชทรัพย์ แต่ไม่สามารถจัดถวายตามพระราชประสงค์ได้เพราะมีราษฎร เข้ามาทำไร่ทำสวนในบริเวณนั้นมาก จะต้องจ่ายเงินทดแทนในการจัดหาที่ใหม่ในอัตราที่ไม่สามารถจัดหาได้ ดังนั้นจึงทรงทดลองปลูกต้นยางนาเอง โดยทรงเพาะเมล็ดที่เก็บจากต้นยางนาในเขตอำเภอท่ายางในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกต้นยางนาเหล่านี้ในแปลงทดลองป่าสาธิตใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรดาพร้อมกับข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 จำนวน 1,250 ต้น
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพรรณไม้จากภาคต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดา เพื่อให้เป็นที่ศึกษาพรรณไม้ของนิสิต นักศึกษา แทนที่จะต้องเดินทางไปทั่วประเทศทรงให้ความสำคัญในการรักษาทรัพยากรเห็นได้จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในวโรกาสต่างๆ เช่น เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ได้มีพระบรมราโชวาทในการเสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาตอนหนึ่งว่า "ธรรมชาติแวดล้อมของเขา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่งสวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ก็เท่ากับการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย" และทรงมีโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ
ในปีพ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงสืบทอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมีพระราชดำริกับนายขวัญแก้ว วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง ให้ดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศโดยพระราชทานให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ฝ่ายวิชาการ เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารพืชพรรณขึ้น ใน ปี พ.ศ. 2536-2549 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 สำนักพระราชวังดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้ และให้ อพ.สธ. ดำเนินการแยกจากโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แผนแม่บทของ อพ.สธ.
ในการดำเนินงานของ อพ.สธ. จะใช้กรอบแนวทางตามแผนแม่บทเป็นระยะเวลาละ 5 ปี โดยการดำเนินงานในแผนแม่บทระยะที่ 5 ปีที่สาม และสี่ จนถึงปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนองพระราชดำริเพิ่มมากกว่า 110 หน่วย งานสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ประกอบด้วยโรงเรียนต่างๆ มากว่า 1,500 โรงเรียน มีพื้นที่และกิจกรรมดำเนินงานของโครงการฯ กระจายออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ และมีการดำเนินงานที่หลากหลายมากขึ้น และการดำเนินงานในแผนแม่บทระยะ 5 ปี ที่ผ่านมาของ อพ.สธ.จะสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2556 นี้ ภายใต้แผนแม่บท (อพ.สธ.ระยะที่ 5 ปีที่ห้า เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 จนถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2559) และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งผลักดันขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการสร้างภูมิคุ้มกันการพัฒนาประเทศ มีวัตถุประสงค์ให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน คนไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและพร้อมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นสุข โดยการดำเนินงานของ อพ.สธ. สอดคล้องกับยุทศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่สร้างความสมดุลและมั่นคงของอาหารและพลังงาน ยุทธศาสตร์การสร้างเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพบนฐานความรู้และยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัย 5 ยุทธศาสตร์ ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการการพัฒนาทางสังคม การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อการพัฒนานวัตกรรม และบุคลากรทางการวิจัย และการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศเพื่อการบริหารจัดการความรู้ ผลงานวิจัย นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ทรัพยากร และภูมิปัญญาของประเทศสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะ ด้วยยุทธวิธีที่เหมาะสมที่เข้าถึงประชาชนและประชาสังคมอย่างแพร่หลาย และในแผนแม่บทของ อพ.สธ. ระยะที่ 5 ปีที่ห้านี้จะเน้นการทำงานในระดับท้องถิ่นในการทำฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นซึ่งประกอบด้วย 3 ฐานทรัพยากร ได้แก่ ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรกายภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
กรอบแนวทางการดำเนินงานและกิจกรรมของ อพ.สธ.
กรอบแนวทางการดำเนินงานและกิจกรรมของ อพ.สธ. ระยะที่ 5 ปีที่ห้า จะประกอบด้วย 3 กรอบการดำเนินงาน คือ กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร กรอบการใช้ประโยชน์ และกรอบการสร้างจิตสำนึก จาก 3 กรอบนี้จะมีกิจกรรมสนับสนุนรวม 8 กิจกรรม ดังนี้
1. กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช กิจกรรรมที่ 2 กิจกรรมสำรวจรวบรวมพันธุกรรมพืช และกิจกรรมที่ 3 กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช แต่ละกิจกรรมมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้
กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช
เป็นกิจกรรมที่มีแนวปฏิบัติให้มีพื้นที่ปกปักพื้นป่าธรรมชาติดั้งเดิมให้มีกระจายอยู่ทั่วประเทศในทุกเขตพรรณพฤกษชาติ ดำเนินงานนอกพื้นที่รับผิดชอบของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (ยกเว้นกรมป่าไม้นำพื้นที่มาสนองพระราชดำริในบางพื้นที่) ดำเนินการในพื้นที่ป่าธรรมชาติของส่วนราชการ ศูนย์วิจัย สถานีทดลองสถาบันการศึกษา พื้นที่ที่ประชาชนร่วมกันรักษา นอกจากนั้นมีการสำรวจขึ้นทะเบียนทำรหัสประจำต้นไม้ และทรัพยากรชีวภาพอื่นๆ เช่น สัตว์ จุลินทรีย์ รวมถึงทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา สนับสนุนให้มีอาสาสมัครระดับหมู่บ้าน ซึ่งหากรักษาป่าดั้งเดิมไว้ได้และทราบว่ามีทรัพยากรอะไรบ้าง จะนำไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช
เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการในพื้นที่คนละพื้นที่กับพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช โดยเป็นการดำเนินการสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรวัฒนธรรมภูมิปัญญา และรวมถึงสำรวจเก็บข้อมูลในเรื่องทรัพยากรกายภาพ ในพื้นที่ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนา เช่น จากการทำอ่างเก็บน้ำ ทำถนน เปลี่ยนแปลงจากป่าธรรมชาติเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือการทำโรงงานอุตสาหกรรม การจัดทำบ้านจัดสรร ฯลฯ ซึ่งพันธุกรรมในพื้นที่เหล่านั้นจะสูญไป โดยได้ส่งเจ้าหน้าและอาสาสมัคร ออกสำรวจเก็บรวบรวมพันธุ์ไม้ที่กำลังจะสูญพันธุ์ หรือพันธุกรมทรัพยากรชีวภาพอื่นๆ ในรูปเมล็ด กิ่ง ต้น เป็นการดำเนินการนอกพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (ยกเว้นกรมป่าไม้นำพื้นที่มาสนองพระราชดำริในบางพื้นที่) ในทั่วประเทศ
กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช
เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช โดยการนำพันธุกรรมพืชไปเพาะและปลูกในพื้นที่ที่ปลอดภัย ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่มีอยู่ 6 ศูนย์ทั่วประเทศ ในพื้นที่ศูนย์วิจัยและสถานีทดลองของกรมวิชาการเกษตร พื้นที่ที่จังหวัดหรือสถาบันการศึกษา ที่เข้าร่วมสนองพระราชดำริ ตัวอย่างเช่นการเก็บรักษาในรูปเมล็ดและเนื้อเยื่อ สารพันธุกรรม ในธนาคารพืชพรรณ อพ.สธ. สวนจิตรดา
2. กรอบการใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช กิจกรรมที่ 5 กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช และกิจกรรมที่ 6 กิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช แต่ละกิจกรรมมีแนวโน้มการดำเนินงานดังนี้
กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช
เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการศึกษาประเมินพันธุกรรมพืช และทรัพยากรอื่นๆ ที่สำรวจเก็บรวบรวมและปลูกรักษาไว้ โดยมีการศึกษาประเมินในสภาพธรรมชาติ แปลงทดลองในด้านสัณฐานวิทยา ชีววิทยา สรีรวิทยา การปลูกเลี้ยง การขยายพันธุ์ การเขตกรรม สำหรับในห้องปฏิบัติการมีการศึกษาด้านโภชนาการ องค์ประกอบ รงค์วัตถุ กลิ่น การศึกษาขยายพันธุ์พืชโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชสำหรับพันธุ์พืชใหม่ๆ การศึกษาด้านชีวโมเลกุล การวิเคราะห์ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ และการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เพื่อศึกษาคุณสมบัติ คุณภาพในทรัพยากรต่างๆ โดยนักวิจัย อพ.สธ. และความร่วมมือจากคณาจารย์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัย ศูนย์วิจัยและสถานีทดลองต่างๆ ชมรมคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. ที่ร่วมสนองพระราชดำริ
กิจกรรมที่ 5 กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช
เป็นกิจกรรมที่ดำเนินงานโดยศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช อพ.สธ. สวนจิตรลดาร่วมกับหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ บันทึกข้อมูลของการสำรวจเก็บรวบรวม การศึกษาประเมิน การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์รวมทั้งงานจัดทำฐานข้อมูลพรรณไม้แห้ง นอกจากนั้นยังรวมถึงฐานข้อมูลทรัพยากรอื่นๆ นอกเหนือจากพันธุกรรมพืช เช่น ฐานข้อมูลของสัตว์ และจุลินทรีย์ การจัดการฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น ข้อมูลต่างๆ จาการทำงานในกิจกรรมที่ 1-4 โดยทำการบันทึกลงในระบบฐานข้อมูล เพื่อเป็นฐานข้อมูลและมีระบบเชื่อมต่อถึงกันได้ทั่วประเทศ โดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทรัพยากรของหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริ อพ.สธ. นำไปสู่การวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช และทรัพยากรต่างๆ โดยที่ อพ.สธ. เป็นที่ปรึกษาประสานงาน ร่วมมือ พัฒนาการทำศูนย์ข้อมูลฯ กำหนดรูปแบบในการทำฐานข้อมูล
กิจกรรมที่ 6 กิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช
เป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาประเมิน การสำรวจเก็บรวบรวม การปลูกรักษาพันธุกรรมพืชที่มีนำมาให้ผู้ทรงคุณวุฒิศึกษาและวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช เพื่อให้มีพันธุ์ตามความต้องการในอนาคตโดยเป็นการวางแผนระยะยาว 30-50 ปี สำหรับพันธุ์ลักษณะต่างๆ ที่เป็นที่ต้องการของ ช่วงเวลานั้นๆ เป็นการพัฒนาโดยมีแผนล่วงหน้า เมื่อผู้ทรงคุณวุฒิได้แผนพัฒนาพันธุ์พืชเป้าหมายแล้ว จึงทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยและพระราชทานให้กับหน่วยงานที่มีศักยภาพในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ต่อไป
3. กรอบการสร้างจิตสำนึก ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรม 7 กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และ กิจกรรมที่ 8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช แต่ละกิจกรรมมีแนวทางดำเนินงานดังนี้
กิจกรรมที่ 7 กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
เป็นกิจกรรมที่สร้างจิตสำนึก ให้เยาวชน บุคคลทั่วไปให้เข้าถึงความสำคัญและประโยชน์ของพันธุกรรมพืช ให้รู้จักหวงแหน รู้จักการนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งมีความสำคัญต่อการจัดการ การอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรของประเทศ ซึ่งพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการกับเยาวชน โดยการฝึกอบรมให้เห็นประโยชน์ ความงดงาม เกิดความปิติที่จะทำการอนุรักษ์ แทนที่จะสอนให้อนุรักษ์แล้วเกิดความเครียด ในกิจกรรมนี้มี "งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน" เป็นสื่อการเรียนรู้ งานพฤกษศาสตร์โรงเรียน เป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ที่มีชีวิตมีที่เก็บพรรณไม้แห้ง พรรณไม้ดอง มีห้องสมุดสำหรับค้นคว้า มีการศึกษาต่อเนื่อง รวมทั้งให้โรงเรียนเป็นที่รวบรวมพรรณไม้ท้องถิ่นที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์ และเป็นที่รวมภูมิปัญญาท้องถิ่นนอกจากนั้นยังมีงานพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เช่นพิพิธภัณฑ์พืช งานพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา งานพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อเป็นสื่อในการสร้างจิตสำนึกด้านอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยให้เยาวชนนั้นได้ใกล้ชิดกับพืชพรรณไม้ เห็นคุณค่าประโยชน์ ความสวยงาม อันจะก่อให้เกิดสำนึกในการอนุรักษ์พรรณพืชต่อไป
กิจกรรมที่ 8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมสนับสนุนงานของ อพ.สธ. ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของทุนสนับสนุน หรือดำเนินงานที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของ อพ.สธ. (กิจกรรมที่ 1-7) โดยอยู่ในกรอบของแผ่นแม่บท อพ.สธ. นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนได้สมัครเข้ามาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในสาขาต่างๆ ตามความถนัดและสนใจ อพ.สธ. ดำเนินการประสานงานโดยมีคณาจารย์ผู้เชียวชาญในแต่ละสาขาให้คำแนะนำ และให้แนวทางการศึกษา จัดตั้งเป็นชมรมได้แก่ ชมรมนักชีววิทยา อพ.สธ. และชมรมคณะปฏิบัติงานวิทยากร อพ.สธ. ซึ่งจะเป็นผู้นำในการถ่ายทอดความรู้และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศให้แก่เยาวชนและประชาชนไทยต่อไป
การเข้าร่วมสนองพระราชดำริโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
ในปีพ.ศ. 2555 มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัต กลิ่นงาม ได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และเป็นผู้นำสังคมในด้านนี้ จึงมอบหมายให้คณบดีคณะเทคโนโล
ยีการเกษตร ขณะนั้นคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุบล สมทรง ได้ดำเนินการเข้าร่วมสนองพระราชดำริ โดยจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาราชภัฏเพชรบุรี โดยมีอธิการบดีเป็นประธานกรรมการ รองอธิการบดีฝ่ายฯ ยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหาร รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การวิจัยการสร้างความเข็มแข็งชุมชน เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 และ 2 มีเลขานุการคณะกรรมการโครงอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ของ อพ.สธ. เป็นรองประธานคนที่ 3 โดยตำแหน่ง มีคณบดีที่เข้าร่วมดำเนินงานในเบื้องต้น 5 คณะ และผู้อำนวยการสำนัก ผู้ทรงคุณวุฒิ และกองที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ได้แก่ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาการจัดการ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานงานอธิการบดี ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและสารสนเทศ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน อาจารย์ ดร.บุญสนอง ช่วยแก้ว อาจารย์พนัส ชัยรัมย์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์อุบล สมทรง และผู้ช่วยศาสตราจารย์นันท์นภัส สุวรรณสินธุ์ เป็นกรรมการและเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการตามลำดับ จากนั้นได้มีการจัดทำแผนแม่บท โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ระยะที่ 5 ปีที่ห้า (1 ตุลาคม 2554 - 30 กันยายน 2559) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เพื่อเข้ารับกระบวนการขอร่วมสนองพระราชดำริ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชาอนุญาตให้เข้าร่วมโครงการและท่านเลขาธิการสำนักพระราชวังในฐานะผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้ลงนาม และแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2555 เป็นต้นมา
ในการเข้าร่วมสนองพระราชดำริฯ ตามแผนแม่บทระยะที่ 5 ปีที่ห้านี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน ใน 7 กิจกรรม ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช ซึ่งกำหนดพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชในเขตพื้นที่รอบเขาเด่น จังหวัดเพชรบุรี มีการจัดการภูมิปัญญาชุมชน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมข่ายประชาสังคม การรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร
กิจกรรมที่ 2 กิจกรรมสำรวจและรวบรวมพันธุกรรมพืช ประกอบด้วยการสำรวจและเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืชในมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีและพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตร รวมถึงพืชหายาก พืชถิ่นเดียว พืชวงศ์ขิง พืชที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ สำรวจและติดตามพรรณไม้ป่าชายเลน ในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี สำรวจพันธุ์ไก่พื้นเมืองในท้องถิ่นเพชรบุรี
กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช ประกอบด้วยการขยายพันธุ์พืชโดยวิธีดั้งเดิมและการเพราะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชที่รวบรวมมาจากพื้นที่ป่าโป่งสลอด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ พืชวงศ์ขิง พืชสมุนไพรที่น่าสนใจ พืชหายากหรือพืชที่มีศักยภาพในการนำมาใช้ประโยชน์ และนำออกปลูกในพื้นที่ธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพันธุ์ไม้จากกลุ่มป่าแก่งกระจาน การผสมพันธุ์และขยายพันธุ์ไนก่พื้นเมือง การจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์เพชรวนาลัยในมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเพื่อปลูกแสดงพันธุ์ไม้ การศึกษาและอนุรักษ์บัวหลวงราชินีโดยรวบรวมสายพันธุ์ จัดทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอ ศึกษาการเจริญเติบโต องค์ประกอบของสารหอมระเหย การจัดการปุ๋ยและพัฒนาคุณภาพของดอก
กิจกรรมที่ 4 กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช ประกอบด้วย การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชหายาก หรือพืชที่มีศักยภาพในการนำมาใช้ประโยชน์และทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอ การศึกษาองค์ประกอบเคมีและฤทธิ์อักเสบของข่อยดำ การศึกษาพฤกษเคมีและฤทธิ์ต้านมะเร็งของพืชในวงศ์ CAPPACEAE จากเขตพื้นที่ป่าโป่งสลอด การผลิตชาสมุนไพรจากกลุ่มป่าแก่งกระจาน
กิจกรรมที่ 5 กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช ประกอบด้วยการสร้างฐานข้อมูลพืชท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบุรี จัดตั้งหน่วยชีววิทยาพืช การจัดทำหนังสือพรรณพืชท้องถิ่นพื้นที่ป่าโป่งสลอด
กิจกรรมที่ 7 กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เชิงปฏิบัติสร้างองค์ความรู้ส่งเสริมภูมปัญญากับการพัฒนาป่าต้นน้ำ ป่าชุมชนเขาแด่น และกลุ่มป่าแก่งกระจานตามแนวทางทฤษฎีใหม่โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
กิจกรรมที่ 8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ประกอบด้วยการจัดอบรมนักพฤกษศาสตร์รุ่นเยาว์ การอบรมปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชให้ครูและนักเรียนในเขตพื้นที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัยการจัดการความรู้และสร้างหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์พืชที่รับประทานได้ของสถานศึกษาพอเพียงและชุมชนพอเพียง ส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านและไม้ผลพื้นเมืองของจังหวัดเพชรบุรีให้กับโรงเรียนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนต่างๆ เพื่อให้ชุมชนและเยาวชนรู้จักผักพื้นบ้าน มีความรักและหวงแหนทรัพยากรท้องถิ่น การปลูกสมุนไพรพืชหายากเพื่ออนุรักษ์และค้นคว้าวิจัยทางแพทย์แผนไทย การส่งเสริมการทำสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนในจังหวัดเพชรบุรี และชุมชนต่างๆ เพื่อให้เยาวชนรู้จักพันธุ์ไม้ท้องถิ่น การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ สร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนและชุมชนในการรวบรวมและรักษาพันธุ์ไม้ของท้องถิ่น การจัดนิทรรศการพันธุ์ไม้ในท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบุรี การศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์ต้นยางนา และพัฒนาหลักสูตรต้นยางนากับพระราชา ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักศึกษาและประชาชนทั่วไปเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์พืชภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว การปรับภูมิทัศวนอุทยานเขานางพันธุรัตน์เพื่อเป็นแหล่งศึกษาและอนุรักษ์พืชพื้นถิ่น
จากกรอบแนวทางการดำเนินงานของ อพ.สธ. และกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริจะเห็นได้ว่า จะไม่จำกัดเฉพาะเรื่องอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเท่านั้น แต่จะรวมถึงทรัพยากรชีวภาพด้านอื่นๆ เช่น สัตว์ จุลินทรีย์ ทรัพยากรกายภาพ แร่ หิน ดิน วัฒนธรรม และภูมิปัญญาด้านต่างๆ ของประเทศไทยด้วย โดยวัตถุประสงค์ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาพระราชดำริฯ คือ ให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืช ให้ร่วมคิดร่วมปฏิบัติ จะเกิดประโยชน์ถึงมหาชนชาวไทย ให้มีระบบข้อมูลพันธุกรรมพืช สื่อถึงกันได้ทั่วประเทศและมีเป้าหมายหลักคือ เพื่อพัฒนาบุคคลากร อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืช ให้เกิดประโยชน์ถึงมหาชนชาวไทย ในฐานะที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นจุดกำเนิดของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ สืบเนื่องจากการอนุรักษ์พันธุ์ต้นยางนา จึงขอเรียนเชิญชวนชาวเพชรบุรีและปวงชนชาวไทยทุกท่านได้มีส่วนร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยเฉพาะหน่วยงานระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น และโรงเรียนต่างๆ เพื่อผลในการอนุรักษ์พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนดังพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า
" การรักทรัพยากร คือการรักชาติ รักแผ่นดิน"
เอกสารอ้างอิง
ปิยะรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ และคณะ (ปก.). 2554. แผนแม่บทโครงการอนรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนะราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยะที่5 ปีที่ห้า (ตุลาคม พ.ศ. 2554-กันยายน พ.ศ. 2559). กรุงเทพฯ : บริษัทเวิร์คสแคว์ จำกัด.175 หน้า.
ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ และคณะ (บก.). 2556. แนวทางการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ระยะที่ 5 ปีที่ห้า (ตุลาคม 2554-กันยายน 2559). กรุงเทพฯ : บริษัทเวิร์คสแคว์ จำกัด. 120 หน้า.
คณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ. 2555. แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สนองพระราชดำริโดยมหาวิทยาลัย ราชภัฏเพชรบุรีระยะที่ 5 ปีที่ห้า(1 ตุลาคม 2554-30 กันยายน 2559) (ฉบับปรับปรุง) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี. 31 หน้า.