อาจารย์ ชลิดา ช้างแก้ว ได้ดำเนินโครงการ สำรวจความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปูชายฝั่งทะเลและริมฝั่งน้ำที่ติดทะเลจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี มีอาณาเขตด้านตะวันออกของพื้นที่ติดกับทะเลอ่าวไทย ทำให้มีลักษณะเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลต่อเนื่องกันตลอดแนว รวมเป็นระยะทางโดยประมาณกว่า 80 กิโลเมตร ซึ่งบริเวณชายฝั่งทะเลของจังหวัดเพชรบุรี มีความพิเศษของลักษณะทางภูมิศาสตร์ เพราะมีทั้งชายฝั่งทะเลที่เป็นหาดโคลน โคลนปนทราย และหาดทราย ส่งผลให้มีทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีความสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ในกลุ่มสัตว์น้ำหน้าดิน ซึ่งมีวิถีการดำรงชีพสัมพันธ์กับลักษณะของชายฝั่ง รวมถึงสัตว์น้ำในกลุ่มปู ซึ่งเป็นสัตว์ที่ดำรงชีวิตและหากินบริเวณหน้าดิน ทำหน้าที่เป็นผู้กำจัดซากอินทรีย์สาร ที่สำคัญของพื้นที่ชายฝั่ง และทำให้การหมุนเวียนแร่ธาตุ สารอาหารในน้ำ นอกจากนี้ชนิด และจำนวนที่พบของปูในแต่ละพื้นที่ ยังมีการรวบรวมข้อมูลในเชิงวิชาการค่อนข้างน้อย โดยส่วนมากจะเป็นเพียงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปูที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ปูทะเล ปูม้า ปูแสม ปูใบ้ หรือปูที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ที่พบเห็นได้ง่าย เช่น ปูก้ามดาบ ปูลม ปูเปี้ยว เป็นต้น แต่ยังมีสัตว์กลุ่มปูอีกหลายชนิดที่ยังขาดข้อมูลในการศึกษา เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้สำรวจศึกษารวบรวมข้อมูลความหลากหลายของชนิดพันธุ์ของปูชายฝั่งทะเล และริมฝั่งน้ำที่เชื่อมต่อกับทะเล เพื่อเป็นฐานข้อมูลเบื้องต้นทางทรัพยากรชีวภาพของสัตว์น้ำกลุ่มปู จากการสำรวจได้รวบรวมข้อมูลเป็นรูปเล่ม และโปสเตอร์ เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลกาดำเนินงาน