ข่อย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : MORACEAE

ชื่อพื้นเมือง : ซะโยเส่ ตองชะแหน่ ส้มพอ สนนาย

รายละเอียด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๕-๑๕ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปทรงกลม หรือ รูปทรงกระบอก กิ่งก้านสาขามาก กิ่งอ่อนมีขนสาก เปลือกนอกสีเทา เปลือกในสีขาว มีเส้นใย เมื่อสับเปลือก มียางสีขาว ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปรีแกมรูปไข่กลับ โคนและปลายใบสอบทู่ ผิวสาก ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ก้านใบสั้น ใบอ่อนสีเขียวอ่อนใสใบแก่สีเขียวเข้ม ดอก ดอกเล็กออกเป็นช่อตามปลายกิ่งออกเดี่ยวๆ แต่รวมกันเป็นกระจุก มีสีขาวหรือเหลืองอ่อน ดอกแยกเพศอยู่ ต่างดอก ผล ผลสด ทรงกลม เป็น ๒ พูเล็ก มีเนื้อเยื่อหุ้มผล ผลแก่จัดสีเหลืองมีรสหวาน เมล็ดกลมแข็งๆ ซ่อนอยู่ในเนื้อเยื่อหุ้มผล ๑ เมล็ด

ประโยชน์

กิ่งสดขนาดเล็กใช้สีฟัน เนื้อไม้แปรรูปกระดาษข่อย ราก รสเมาเบื่อ แก้บาดแผล ขับปัสสาวะ ขับเมือกมันในลำไส้ แก้ไตพิการ ทำให้คลื่นเหียนอาเจียน บำรุงหัวใจ ฆ่าพยาธิ แผลเน่าเปื่อย เปลือก รักษาฟัน แก้ปวดฟัน แก้เหงือกบวม รักษาเหงือกและฟัน แก้รำมะนาด แก้ริดสีดวงทวาร ถอนพิษสัตว์กัดต่อย โรคผิวหนัง เป็นยาอายุวัฒนะ ใบ ถอนพิษเมาเบื่อ หรือ อาหารแสลง ยาระบาย อ่อนๆ แก้กระหายน้ำ แก้ปวดประจำเดือน ผล แก้โลหิตและลม เมล็ด ขับลมในลำไส้ ยาบำรุงธาตุท้องขึ้นอืดเฟ้อ ขับผายลม